วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2561

หลักการอ่านทำนองเสนาะ





เสียงเสนาะไพเราะเพียง              ดนตรี
คำเพราะคือคำกระวี                 แต่งไว้
ผู้รู้ท่วงนำนองดี                      ลองอ่าน
ย่อมเสนาะจิตไซร้                   เสนาะล้ำคำหวาน ฯ
                  นันทา ขุนภักดี



          เนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษาที่มีระดับเสียงสูงต่ำและมีสัมผัสคล้องจองกัน เมื่อกวีพิถีพิถันเลือกสรรถ้อยคำเหล่านั้นมาเรียงร้อยต่อเนื่องกันด้วยสติปัญญา อารมณ์ และจินตนาการให้มีจังหวะหลากหลาย จึงเกิดฉันทลักษณ์ที่มีสุนทรียภาพ และคีตลังการอันไพเราะจับใจหลายรูปแบบ หากนำมาอ่านเงียบ ๆ ในใจ ย่อมทำให้รสและความไพเราะของคำกวีนั้นหย่อนลง แต่ถ้าอ่านออกเสียงให้ดังฟังชัด ให้เสียงสัมผัส จังหวะ และทำนองกระทบหูและความคิด ย่อมจะเกิดรสไพเราะรื่นหูจับใจในรสคำ เสมือนฟังเสียงดนตรีที่จะมีภาษาใดเหมือนยาก

          นับเป็นความสามรถของคนไทยแต่โบราณที่รู้จักคิดประดิษฐ์ทำนองต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อประกอบการอ่านคำประพันธ์ร้อยกรองแต่ละประเภทได้อย่างไพเราะเหมาะเจอะน่าสนใจ อีกทั้งคนไทยแต่โบราณมาก็ชอบที่จะฟังทำนองต่าง ๆ อันเป็นเสียงดนตรีที่มีความไพเราะเพราะพริ้งยิ่งนักนั้น ตามแบบแผนที่บรรพบุรุษของตนสืบทอดต่อกันมา ไม่ว่าจะเป็นทำนองกล่อม ขับ พากย์ ร้อง สวด เห่ (กำชัย ทองหล่อ ๒๕๒๕ : ๖๘๘) หรืออ่านทำนองเสนาะ ซึ่งแสดงถึงสุนทรียลักษณ์ทางเสียงของบทกวีไทยที่สามารถนำมาอ่านออกเสียงให้ฟังไพเราะได้อย่างวิเศษน่าอัศจรรย์หลากหลายกันออกไปอย่างที่จะหาชาติใดมาเทียบได้ยาก (นันทา ขุนภักดี ๒๕๓๔ : ๑ ) และแต่ละทำนองนั้นเมื่อฟังครั้งใดก็ย่อมรู้สึกประทับใจในลีลาที่แตกต่างกันเสมอทุกครั้งไป จึงสมควรเชิดชู การอ่านทำนองร้อยกรองไทย ดังกล่าวให้เห็นเด่นชัดและรักษาไว้ให้ยั่งยืนสถาพรเป็นศักดิ์ศรีแด่ภาษาไทยซึ่งเป็นสมบัติของชาติสืบไปอีกนานแสนนาน

หลักการอ่านทำนองร้อยกรองไทยให้มีเสียงเสนาะ

          หลักการอ่านทำนองร้อยกรองไทยให้มี “เสียงเสนาะ” นั้นผู้อ่านควรมีหลักการอ่านตามแนวต่อไปนี้คืออ่านให้ถูกอักขรวิธี โดยไม่อ่านผิดสระผินพยัญชนะหรือผิดวรรณยุกต์ ออกเสียงพยัญชนะ /จ/ฉ/ช/ถ/ท/ซ/ศ/ส/ษ/ร/ ให้ชัดเจนอย่างไทย ออกเสียงตัวควบกล้ำให้ชัด อ่านคำยัติภังค์ให้เชื่อมเป็นคำเดียวโดยไม่เสียจังหวะ อ่านอย่างระมัดระวัง ไม่ตกหล่น ไม่ต่อเติม และไม่ตู่ตัว ทั้งต้องรู้จักการอ่านคำแปลเสียงเพื่อให้เกิดเสียงสัมผัสที่ไพเราะตามต้องการ เช่น เห็นก้อนหินศิลาน่าอาวรณ์  ต้องอ่านแปลเสียงจาก /ศิลา/ เป็น /ศินลา/ เพื่ออ่านเอื้อนสัมผัสกับคำว่า หิน ดังนี้ เป็นต้น
          นอกจากนี้ยังต้องอ่านให้ถูกจังหวะ ควรรู้จักจังหวะของคำประพันธ์แต่ละประเภทซึ่งแตกต่างกันการอ่านทำนองจะยืดจังหวะในฉันทลักษณ์เป็นสำคัญ ต้องรู้จังหวะและการแบ่งวรรคต้อนของบทประพันธ์ที่จะอ่านทุกประเภท และอ่านให้ลงสัมผัส รู้จักเอื้อนเสียงในช่วงที่เหมาะสม และรู้จักอ่านอย่างมี “ลูกเก็บ” โดยพยายามอ่านรวบคำหรือพยางค์ที่มีเกินในฉันทลักษณ์ให้เร็วและเบาอย่างอักษรนำเพื่อให้เสียงตกลงตรงพยางค์ที่ต้องการเพื่อรักษาจังหวะการอ่านที่คงที่ การอ่านอย่างมีลูกเก็บเช่นนี้โบราณนิยมอ่านกันเพราะจะทำให้เสียงของคำไพเราะขึ้นมากกว่านคำห้วนตรงตามฉันทลักษณ์บังคับ เช่น สยามรัฐพัฒนแผ่นพัน สองครา นี้แล จะอ่านว่า สยามรัดพัดทะนะแผ่นพัน สองครา นี้แล โดยอ่านออกเสียง /ทะนะ/ รวบให้เร็วและเบา ย่อมจะฟังไพเราะมากกว่าอ่านห้วนเพื่อให้ได้จำนวนคำควบตรงตามฉันทลักษณ์บังคับว่า สยามรัดพัดแผ่นพัน สองครา นี้แล อีกทั้งเมื่ออ่านไปถึงตอนใกล้จะจบบทต้อนเอื้อนเสียงและทอดจังหวะให้ช้าลงกระทั้งจบบท

          อีกประการหนึ่ง ควรอ่านให้มีเสียงดัง ให้เสียงสัมผัส จังหวะ และทำนองที่อ่านดังฟังชัดเจนกระทบหูและกระทบใจ จึงจะเกิดรสคำที่ไพเราะเพราะพริ้ง รื่นหูจับใจ เสมือนฟังดนตรีดังกล่าวแล้ว ที่ต้องอ่านให้มีอารมณ์ โดยอาศัยการอ่านตีความบทกวีให้เข้าใจถึงความรู้สึกอันแท้จริงขงกวีว่า เป็นอารมณ์รัก โศก ตื่นเต้น คึกคัก ขบขัน หรือเกลียดชัง แล้วพยายามอ่านออกมา ให้น้ำเสียงสอดคล้องกับอารมณ์ต่าง ๆ ที่ผู้แต่งต้องการสื่อความแก่ผู้อ่านจึงจะไพเราะน่าฟัง อีกทั้งยังจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจเนื้อเรื่องและสนุกสนานเพลิดเพลินด้วย

          ประการสุดท้ายที่สำคัญคือ อ่านให้มีทำนอง ย่อมเป็นที่ตระหนักดีว่า กวีตั้งใจแต่งบทประพันธ์ แต่ละครั้งอย่างมีจุดมุ่งหมาย เป็นต้นว่า แต่งเพื่อเล่นหนัง แต่งเพื่อสวดพระมาลัย แต่งเพื่อขับเสภา แต่งเพื่อเล่นหุ่นกระบอก หรือแต่งเพื่ออ่านสู่กันฟัง ดังนั้น บทกวีแต่ละประเภทก็จะเหมาะกับแต่ละทำนอง เช่น ทำนองพากย์ ทำนองสวด ทำนองขับ ทำนองร้อง หรืออ่านทำนองเสนาะ เป็นต้น ผู้อ่านจึงควรรู้จักลีลาของแต่ละทำนองอย่างถูกต้อง โดยสอบถามจากผู้รู้ในวงการที่ได้รับสืบทอดต่อกันมา แล้วหมั่นฝึกฝนอ่านตามควรจำทำนองของคำประพันธ์แต่ละประเภทไว้เป็นต้นแบบเพื่อนำไปปรับอ่านกับบทอื่น ๆ ได้ พยายามขึ้นทำนองอ่านให้พอดีกับระดับเสียงของตน เพียงเท่านี้ ก็ย่อมจะช่วยให้สามารถอ่านทำนองร้อยกรองไทยได้อย่างราบรื่นและไพเราะตลอดไป (นันทา ขุนภักดี ๒๕๓๙ : ๓๖-๔๑)

กำชัย ทองหล่อ. (๒๕๒๕). หลักภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพมหานคร : เจริญรัตน์การพิมพ์.
นันทา ขุนภักดี. (๒๕๕๙). การอ่านทำนองร้อยกรองไทย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น