วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2561

โคลงสุภาพ



โคลง

โคลง คือคำประพันธ์ชนิดหนึ่งซึ่งมีวิธีเรียบเรียงถ้อยคำเข้าคณะ มีกำหนดเอกโทและสัมผัส แต่มิได้บัญญัติบังคับครุลหุ
โคลง แบ่งออกเป็น ๓ ชนิด คือ โคลงสุภาพ โคลงดั้น และโคลงโบราณ


โคลงสุภาพแบ่งออกเป็น ๗ ชนิดคือ

                   โคลง ๒ สุภาพ                       โคลงตรีพิธพรรณ
                   โคลง ๓ สุภาพ                       โคลงจัตวาทัณฑี
                   โคลง ๔ สุภาพ                       โคลงกระทู้
                   โคลง ๕ หรือมณฑกคติ

โคลงดั้นแบ่งออกเป็น ๖ ชนิด คือ

                   โคลง ๒ ดั้น                          โคลงดั้นบาทกุญชร
                   โคลง ๓ ดั้น                          โคลงดั้นตรีพิธพรรณ
                   โคลงดั้นวิวิธมาลี                     โคลงดั้นจัตวาทัณฑี

โคลงโบราณแบ่งออกเป็น ๘ ชนิด คือ

                   โคลงวิชชุมาลี                        โคลงสินธุมาลี
                   โคลงมหาวิชชุมาลี                   โคลงมหาสินธุมาลี
                   โคลงจิตรลดา                        โคลงนันททายี
                   โคลงมหาจิตรลดา                   โคลงมหานันททายี

คำสุภาพในโคลงนั้นมีความหมายเป็น ๒ อย่าง คือ
๑.      หมายถึงคำที่ไม่มีเครื่องหมายเอกโท
๒.      หมายถึงการบังคับคณะและสัมผัสอย่างเรียบ ๆ ไม่โลดโผน
ฉะนั้น คำสุภาพใน ฉันทลักษณ์ จึงผิดกับคำสุภาพ ใน วจีวิภาค เพราะในวจีวิภาคหมายถึงคำพูดที่เรียบร้อยไม่หยาบโลน ไม่เปรียบเทียบกับของหยาบ หรือไม่เป็นคำที่มีสำเนียงและสำนวนผวนมาเป็นคำหยาบ ซึ่งนับอยู่ในประเภทราชาศัพท์
          ข้อบังคับหรือบัญญัติของโคลง การแต่งโคลงต้องมีลักษณะบังคับหรือบัญญัติ ๖ อย่าง คือ

๑.      คณะ                            ๔.   เอกโท
๒.      พยางค์                          ๕.   คำเป็นคำตาย
๓.      สัมผัส                           ๖.   คำสร้อย

ในที่นี้จะยกเอา โคลงสุภาพที่นิยมใช้แต่งกันในปัจจุบันอันได้แก่ โคลง ๒ สุภาพ โคลง ๓ สุภาพ และ โคลง ๔ สุภาพ
โคลง ๒ สุภาพ
แผน :                                             ๐ ๐ ๐ อ ท   ๐ อ ๐ ๐ ท
๐ ๐ อ ท           ( ๐ ๐ )

บัญญัติ :          คณะ บทหนึ่งมี ๓ วรรค วรรคที่ ๑ และที่ ๒ มีวรรคละ ๕ คำ วรรคที่ ๓ มี ๔ คำ รวม ๓
วรรคเป็น ๑๔ คำ อีก ๒ คำสุดท้ายในวงเล็บเป็นคำสร้อยจะมีหรือไม่ก็ได้
                 พยางค์ มีจำนวนตามหน่วยที่เขียนไว้ในแผน ถ้าเป็นพยางค์ลหุ อาจมีจำนวนเกินกว่าที่เขียนไว้ในแผนก็ได้ แต่ต้องไม่ยาวเยิ่นเย้อจนอ่านไม่ถูกทำนองและจังหวะไม่ได้
                 สัมผัส คำที่ ๕ วรรคที่ ๑ ต้องสัมผัสกับคำที่ ๕ วรรคที่ ๒ ถ้าแต่งเข้าลิลิต (คือเป็นเรื่องยาว) ต้องให้คำสุดท้ายของบท สัมผัสกับคำที่ ๑ ที่ ๒ หรือที่ ๓ ของบทต่อไปทุก ๆ บท
                 เอกโท  ต้องมี่เอก ๓ คำ และโท ๓ คำ ตามตำแหน่งที่กำหนดในแผน คำตามใช้แทนเอกได้ แต่ตำแหน่งโท จะใช้คำอื่นแทนไม่ได้ ต้องใช้โทมีรูป
                 คำเป็นคำตาย ห้ามใช้คำตายในคำสุดท้ายของบท
                 คำสร้อย ถ้าเนื้อความยังไม่สุดกระแส อนุญาตให้เติมสร้อยลงในวรรคที่ ๓ ได้อีก ๒ คำ ดังที่เขียนวงเล็บไว้ในแผน

โคลง ๓ สุภาพ
แผน :                                        ๐ ๐ ๐ ๐ ๐     ๐ ๐ ๐ อ ท
                                            ๐ อ ๐ ๐ ท         อ ท ๐ ๐ ( ๐ ๐ )

บัญญํติ :        คณะ บทหนึ่งกำหนดให้มี ๔ วรรค วรรคที่ ๑, , ๓ มีวรรคละ ๕ คำ วรรคที่ ๔ มี ๔ คำ รวมเป็น ๑๙ คำ เติมสร้อยในวรรคสุดท้ายได้อีก ๒ คำ
                 สัมผัส คำที่ ๕ วรรคที่ ๑ ต้องสัมผัสกับคำที่ ๑ หรือที่ ๒ หรือที่ ๓ ของวรรคที่ ๒ ที่โยงเส้นสัมผัสไว้สามแห่ง หมายความว่าเลือกสัมผัสได้คำหนึ่งในสามคำนั้น นอกนั้นสัมผัสกันตามเส้นที่โยงไว้ ถ้าแต่งเข้าลิลิตให้ถือตามกฎที่กล่าวในโคลง ๒
                 เอกโท ต้องมีเอก ๓ โท ๓ ตามตำแหน่งที่กำหนดในแผน ถ้าคำที่ ๕ ในวรรคที่ ๑ ส่งสัมผัสโดยใช้คำที่มีรูปวรรณยุกต์เอกโท คำที่รับสัมผัสในวรรคที่ ๒ จะต้องมีรูปวรรณยุกต์เอกหรือโทตามกันด้วย
หมายเหตุ       โคลง ๒ และ โคลง ๓ ทั้งสุภาพและดั้นไม่ใคร่นิยมแต่งตามละพัง มักนิยมแต่งเป็นเรื่องยาว ๆ  ปนกันกับร่ายแลโคลงชนิดอื่น เช่น แต่งเป็นลิลิตเป็นต้น

โคลง ๔ สุภาพ
แผน :                                 ๐ ๐ ๐ อ ท             ๐ ๐ ( ๐ ๐ )
                                     ๐ อ ๐ ๐ ๐                อ ท
                                     ๐ ๐ อ ๐ ๐                ๐ อ ( ๐ ๐ )
                                     ๐ อ ๐ ๐ ท                อ ท ๐ ๐ ( ๐ ๐ )

บัญญัติ :        คณะ โคลงหนึ่งมี ๔ บรรทัด บรรทัดหนึ่งเรียกว่า “บาทหนึ่ง” รวม ๔ บาทนับเป็นหนึ่งบทหรือหนึ่งโคลง บทหนึ่งมี ๒ วรรค วรรคหน้ามีวรรคละ ๕ คำ วรรคหลังของบาทที่ ๑, ๒ และ ๓ มีวรรคละ ๒ คำ วรรคหลังของบาทที่ ๔ มี ถ คำรวมเป็น ๓๐ คำ
                 สัมผัส ดูตามเส้นที่โยงไว้ในแผน นอกจากสัมผัสที่บังคับตามแผนแล้วโคลง ๔ สุภาพยังต้องการสัมผัสอีก ๒ อย่างเพื่อชูรสให้เพราะยิ่งขึ้น คือ
                 ๑.สัมผัสใน ไม่บังคับจะมีครบทุกคู่หรืจะมีคู่ใดคู่หนี่งก็ได้
                 ๒.สัมผัสอักษรระหว่างวรรค คือให้คำสุดท้ายของวรรคหน้า สัมผัสอักษรกับคำหน้าของวรรคหลัง เช่น ขึ้น กับ เคียง กา กับ กู่ ตา กับ ตาม จ้อง กับ จึ่ง
                 เอกโท มีเอก ๗ ตำแหน่ง และโท ๔ ตำแหน่ง ตามในแผน
                 คำสร้อย ถ้าเนื้อความยังไม่สิ้นกระแส จะเติมสร้อยคำลงไปในท้ายบทที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ก็ได้ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใคร่นิยมเติมสร้อยคำในบาทที่ ๔ จึงไม่พบเห็นในการแต่งทั่ว ๆ ไปแต่ในหนังสือโคลงรุ่นเก่าเราจะได้พบบ่อย ๆ หากเราจะแต่งเล่นบ้างก็ได้

หมายเหตุ :     โคลง ๔ สุภาพนี้ ถือว่าไพเราะและนิยมแต่งกันมาแต่โบราณ นับว่าเป็นหลักของโคลงทั่ว ๆ ไป เพราะถ้าแต่งได้แล้ว ก็สามารถจะแต่งโคลงอื่นได้โดยไม่ยาก

กำชัย ทองหล่อ (๒๕๕๖ : ๓๙๖-๔๐๐ )


กำชัย ทองหล่อ. (๒๕๕๖). หลักภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๕๖. กรุงเทพมหานคร : อมรการพิมพ์.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น