วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เปรียบเทียบ กำสรวลศรีปราชญ์ / ทวาทศมาส


จากการที่ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือวรรณคดี และวรรณกรรมอยู่หลายเล่มและเกิดประเด็นและข้อสงสังอยู่เป็นจำนวนมากแต่ก็ไม่สามรถหาคำตอบได้เพราะไม่มีผู้ที่ศึกษาค้นคว้าเอาไว้ก่อนหน้า หากแต่ข้าพเจ้าก็พยายามที่จะหาซึ่งคำตอบของคำถามเหล่านั้นอยู่เนือง ๆ ในเวลาว่างซึ่งมีอยู่น้อยนิดของข้าพเจ้า ได้อ่านหนังสือ “ศักดิ์ศรีนิพนธ์” ของ ศ.พิเศษ ดร. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ในหนังสือชุด บรมราชกุมารีอักษรานุรักษ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลำดับที่ 10 ก็ได้พบกับแนวคำตอบของปัญหาที่ค้างคาติดอยู่ในใจมานานหลายปีที่ว่า ศรีปราชญ์มีตัวตนจริหรือไม่ และ แต่กำสรวลศรีปราชญ์จริงหรือ หากไม่แต่แล้วใครแต่ ก็ได้บังเอิญอ่านพบเข้าในหนังสือเล่มนี้ อันจะได้กล่าวสรุป และเปรียบเทียบไว้ในลำดับต่อไป



กำสรวลศรีปราชญ์.. ?

            สำหรับคนที่เคยอ่านกำสรวลศรีปราชญ์ และโคลงทวาทศมาสจะรู้สึกว่า วรรณคดีทั้งสองเรื่องนี้ แสดงสำนวนภาษาและแนวความคิดของผู้แต่งอย่างละม้ายคล้ายคลึงกันที่สุด และด้วยความคล้ายกันนี้ผู้อ่านอาจคิดได้ว้า ไม่ทวาทศมาสลอกเลียนกำสรวลศรีปราชญ์ ก็กำสรวลศรีปราชญ์ลอกเลียนทวทศมาส เพราะด้วยความเก่าแก่ของภาษานั้นบ่งชี้ให้เห็นว่ามาจากในสมัยเดียวกัน คือสมัยอยุธยาตอนต้นระหว่างรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถกับรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เรารู้แต่ว่ากวีผู้นิพนธ์ทวาทศมาสนั้นคือพระเยาวราช และมีกวีอีกสามท่านช่วยกันเกล่าสำนวน ส่วนกำสรวลศรีปราชญ์นั้นไม่ปรากฏนามผู้แต่ง หรืออาจบอกไว้แต่ข้อความตรงนั้นขาดหายไปนานแล้วเลยกลายเป็นปัญหาถกเถียงกันไม่รู้จักจบสิ้นกระทั้งบัดนี้ ท่านผู้รู้หลายท่านพยายามจะชี้ให้เห็นว่า คนที่แต่งกำสรวลศรีปราชญ์ นั้นคือ ศรีปราชญ์เพราะพยาตรังเอ่ยถึงไว้หน่อยหนึ่งในโคลงตามเสด็จประพาสลำน้ำน้อย นายนรินทร์ธิเบศรอ้างไว้นิดหนึ่งในนิราศนรินทร์ และพยาปริยัติธรรมาดาเก็บเอาประวัติศรีปราชญ์มาเรียบเรียงใหม่ โดยเฉพาะข้อความที่ว่า ศรีปราชญ์ถูกเนรเทศ ดูเหมาะเจาะสอดคล้องกับกับคำรำพันในกำสรวลศรีปราชญ์เลยทำให้มีน้ำหนักขึ้นมาก แต่กระนั้นก็ก็ดี ยังไม่อยากเชื่อ เพราะยังมีข้อที่ค้านอยู่หลายข้อคือ

คำที่ใช้ในกำสรวลศรีปราชญ์ เมื่นำมาเทียบกับทวาทศมาศแล้ว จะเห็นว่าคล้ายคลึงกัน หรือเป็นคำเดียวกัน และไม่แต่เพียงคำที่ใช้เหมือนกัน บางที่ข้อความทั้งบรรทัดเกือบจะเหมือนกันเลย  ถ้าเทียบบรรทัดต่อบรรทัด เช่น

ทวาทศมาส          -           อยุธยายศโยคฟ้า      ธรณี
กำสรวลฯ             -           อยุทธยายศโยกฟ้า    ฟากดิน
ทวาทศมาส          -           ชดานดังขดานดือ      ดอกไม้
กำสรวลฯ             -           ขดานราบคือขดานดือ ดอกไม้

            คำว่า “ดวงเดียว” มีใช้หลายแห่งในทวาทศมาส จะหมายถึง “คนเดียว” หรืออะไรก็ตามที ในกำสรวลฯก็จะพบคำนี้ใช้ในที่หลายแห่งเหมือนกัน ดังเช่น


ทวาทศมาส
                                    ดวงเดียวมิ่งมาลา               เฉลิมภาคย์ กูเอย
                                    ดวงเสียดดวงเดียวจอม         จอดเจ้า
                                    ดวงเดียวพุดสวาทเกล้า         พรรณนา
                                    ไปเปนธรณีดวง                  เดียวเด็จ
                 ดวงเดียวสุธาทิศ                 ทิพมาศ   กูเอย

กำสรวลศรีปราชญ์

                                    ดวงเดียวแม่คงตรา              ไตรโลกย กูเอย
                                    ดวงเดียวจากเจียรแด           ยรรสวาดิ
                                    ดวงเดียวบัวมาศแพ้             พิมทอง พี่เอย
                                    ดวงเดียวแม่มองหน             หาพี่ พู้นแม่

            คำเก่าและมีความหมายไม่ชัดเจน เช่น “อาเม” (อ้าแม่ ? ) แทบจะไม่ปรากฏในวรรณคดีเรียงอื่น ๆ แต่ปรากฏในทวาทศมาสและกำสรวลฯ คือ

ทวาทศมาส                     
                                    ภรรดาคระหง่อนโอ้             อาเมมิ่งเอย 

กำสรวลฯ
                                    -อาเมเจียรจากเจ้า              กินใจ บ่านี้
                                    -อาเมอยู่ฉันใด                   ดวงสวาสติ กูเอยฯ
                                    -จากมาอ่อนอาเม                บุญบาป ใดนา

            นอกจากนี้ยังมีคำอื่น ๆ อีกหลายคำที่เป็นคำเก่ารุ่นเดียวกัน และใช้เหมือน ๆ กันในวรรณคดีทั้งสองเรื่องนี้ เช่น “เททรวง” “ลิวโลด” “รลุง” (หรือ ลันลุง) ฯลฯ หากจะยกมามาแสดงก็เห็นว่ามากเกินความจำเป็น ผู้ใดสนใจก็อ่านเปรียบเทียบดูก็ย่อมจะเห็นได้เอง

            อีกข้อหนึ่ง ในทวาทศมาส ผู้อ่านจะพบราชาศัพท์ และข้อความที่อ้างถึงเจ้านายผู้นิพนธ์เอง และนางผู้เป็นที่รัก แสดงอย่างชัดเจนว่าทั้งสองท่านนั้นเป็นเจ้านายหรือผู้มีศักดิ์สูง นั่นมิใช่เรื่องที่แปลกอะไร เพราะผู้นิพนธ์เองก็ได้บอกไว้ตอนท้ายเรื่องแล้วว่าคือพระเยาวราช ยิ่งไปกว่านั้นในโคลงบทหนึ่งตองกลาง ๆ เรื่องยังเอ่ยไว้อีกว่า
                                   
                   ทุกหมื่นขุนมูลนาย  นอบเฝ้า
                                    สมเด็จปิ่นเสาวคต   ยุพราช

            แต่ส่วนนางอันเป็นที่รักนั้นจะเป็นใครไม่ทราบแน่ ทราบแต่ว่าเป็นผู้มีศักดิ์สูง เพราะผู้นิพนธ์ใช้คำว่า “สมเด็จ” ในเวลาอ้างถึงในบางตอน เช่น  

                                    รำฦกสมเด็จแสดง  รสราค
                                    โอ้แก้วสมเด็จกลาง วนิภาคย์ เรียมเอยฯ

            แสดงว่าทวาทสมาสเป็นนิพนธ์ที่เจ้านายพระองค์หนึ่งทรงรำพันถึงเจ้านายอีกองค์หนึ่ง จะใช้ภาษาสูงส่งพียงใดก็ย่อมทำได้ แต่กำสรวลศรีปราชญ์เล่า ถ้าสรีปราชญ์แต่งอย่างที่เชื่อกัน ทำไมศรีปราชญ์ต้องใช้ราชาศัพท์ทั้งแก่ตนและนางผู้เป็นที่รักด้วย ? ตัวอย่างเช่น

                                    ระลึกรสช้อยซาบ                พระทนต์

            แปลว่า “นึกถึงน้องแล้วทำให้เสียวซาบฟัน (มันเขี้ยว ? )”
            ถ้าเป็นฟันของศรีปราชญ์ จำเป็นต้องใช้คำว่า “พระทนต์” ด้วยหรือ
            
สำหรับนางผู้เป็นที่รักก็เช่นเดียวกัน

                                     ถนัดเพื่อนพลูนางเสวย     พี่ดิ้น
                                     ทรงกรรแสงไจ้ไจ้          จั่นจวญ
                                     สายากันแสงคลา          สองสู่ กันนา
                                     เรียมตื่นชมเจ้าช้าง         ช่างเชย

          คำว่า “ถนำทึก” หรือ “ทึกถนำ” เป็นคำเขมร แปลว่า “น้ำยา” คงจะเป็นประเภทน้ำยาที่กินแล้วเย็น แก้ร้อนใน ในทวาทศมาส ผู้นิพนธ์อ้างว่าเคยเสวย “ถนำทึก” ร่วมกับนางผู้เป็นที่รัก ตัวอย่างเช่น

                                     วันเรียมร่วมถนำทึก        นพนิต

          ปรากฏว่าในกำสรวลโคลงดั้น ผู้นิพนธ์ก็พรรณนาอย่างเดียวกัน คือ

                                     อร่อยรสถึกถนำ            ปากป้อน

          ดูคล้าย ๆ กับว่ากวีทั้งสองจะมีความคิดตรงกันในเรื่องนี้ หรือว่านี่จะเป็นไปเพราะความบังเอิญอีก ?
          นอกจากจะกิน (เสวย) น้ำยาร่วมกันแล้ว นางยังช่วยเอาน้ำหอมกลิ่นจันทน์จากจอกทองมาทาให้ ลูบไล้ พัดวี ให้เป็นที่สบายหายร้อน ดังปรากฏในกำสรวลว่า

                                     จันทน์จรุงจอกทองทา     ยังรุ่ง
                                     บยาเยียวเนื้อร้อน           เร่งวี

          เครื่องใช้ไม้สอยก็ทำด้วยทอง และนางผู้สูงศักดิ์ก็คอยอยู่งานปรนนิบัติเอาใจอย่างใกล้ชิดสนิทสนม อ่านแล้วก็เกิดความรู้สึกว่า นี่เป็นกิจที่เป็นโดยปกติ ไม่ได้แสดงอาการลักลอบกระทำแต่อย่างใด จะเข้าใจเป็นอย่างอื่นมิได้นอกจากจะเข้าใจว่า ทั้งองค์ผู้นิพนธ์และนางผู้ทรงศักดิ์นั้นเป็นสามีภรรยากัน เคยอยู่ด้วยกันมาก่อนเป็นปกติ มิใช้ลักษณะคนที่ลักลอบพบกันชั่วประเดี๋ยวประด๋าว อย่างศรีปราชญ์กับนางผู้สูงศักดิ์ผู้หนึ่ง
          นางผู้ที่กล่าวถึงนี้คือใคร ถ้าแกะรอยตามเรื่องที่กล่าวกันว่าเป็นประวัติของศรีปราชญ์ ก็ต้องว่า ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งเป็นพระสนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์ และในกำสรวลโคลงดั้นก็มีกล่าวถึงนาม “ศรีจุฬาลักษณ์ ” อยู่สองแห่ง คือ

                                     บาศรีจุฬาลักษณ์          ยศยิ่งพู้นแม่

และ                                บาศรีจุฬาลักษณ์          เสาวภาคย์ กูเอย

          แต่ท้าวศรีจุฬาลักษณืเป็นถึงสนมเอกอยู่ในวัง จะมาคลุกคลีปรนนิบัติศรีปราชญ์แบบ “จันทน์จรุงจอกทองทา        ยังรุ่ง” ได้อย่างไร ในทวาทศมาสก็มีกล่าวถึง “ศรีจุฬาลักษณ์” ตอนหนึ่งว่า
                             ดวงศรีจุฬาลักษณ์         เฉลิมโลก  กูเอย
          ลองเทียบสำนวนดูละหว่าง “ดวงศรีจุฬาลักษณ์      เฉลิมโลก  กูเอย” กับ “บาศรีจุฬาลักษณ์   เสาวภาคย์  กูเอย” แล้วจะเห็นว่าแทบจะไม่มีอะไรต่างกันเลย แต่ถ้าจะอ้างว่า “ศรีจุฬาลักษณ์” ในกำสรวลโคลงดั้นมิใช่ชื่อตำแหน่งสนมเอก แต่เป็นคำธรรมดาที่มีความหมายว่า “ผู้มีลักษณะงามเลิศ” อย่างนี้ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร เป็นอันจนใจที่จะค้างต่อไป แต่แม้กระนั้นก็ยังรู้สึกเหลือเชื่ออยู่นั้นเอง ยากที่จะเข้าใจว่า นี่เป็นการบังเอิญอีกครั้งที่กวีทั้งสองมาใช้คำเหมือนกันโดยมิได้หมายถึงพระสนมเอก แต่หมายเอาง่าย ๆ ว่า “นางผู้มีลักษณะงาม”
          ผู้นิพนธ์กำสรวลโคลงดั้น ได้พรรณนาถึงตอนที่ลงเรือ ออกจากพระนครศรีอยุธยาว่า

                             เสนาะนิราศน้อง           ลงเรือ
                             สาวสั่งเลวงเต็ม             ฝั่งเฝ้า

          ศรีปราชญ์เป็นคนธรรมดา และกำลังจะถูกเนรเทศฝากไปกับเรือที่จะล่องไปนครศรีธรรมราช สาวสรรกำนัลนางที่ไหนเล่าจะเฝ้าคอยส่งอย่าง “เต็มฝั่ง” ? จะเป็นไปได้ก็แต่กรณีเจ้านายใหญ่โตเท่านั้น ที่จะมี “นางใน” มาคอยเฝ้าส่งเสด็จล้นหลามเต็มฝั่ง หาใช่คนสามัญอย่างศรีปราชญ์ไม่ ในทวาทศมาส ตามที่พระยุพราช (พระเยาวราช) เสด็จ มีกล่าวไว้ว่า

                             มนตรีมนตรีศเรื้อง         เรืองยศ
                             ทุกหมื่นขุนมูลนาย         นอบเฝ้า
                             สมเด็จปิ่นเสาวคต          ยุพราช

          อย่างกรณีหลังนี้ถึงจะมีคนมาคอยส่งเสด็จแบบ “สาวสั่งเลวงเต็ม       ฝั่งเฝ้า” ก็ดูไม่แปลกอะไร ไม่มีปัญหาให้คิด
          ปรากฏว่าเรือลำที่ศรีปราชญ์ถูกคุมตัวมา (หรือเรือที่เจ้านายใหญ่โตองค์หนึ่งเสด็จมา) นั้นแล่ยล่องมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วออกทะเลเฉียงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ถึงเกาะไผ่ เกาะสีชัง แล้วหันกลับแล่นข้ามไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ลงไปถึงราว ๆ ประจวบคีรีขันธ์แล้วหายเงียบไป มีมีหลักฐานว่าไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชหรือเปล่า อาจจะเป็นไปได้ว่า ต้นฉบับตอนที่ว่านี้หายสาบสูญไปตั้งแต่ครั้งกรุงแตก เรื่องนี้ไม่น่าประหลาดอะไรหรอก มาประหลาดที่เรือลำนั้น (หรือขบวนนั้น) มิได้แล่นผ่านคลองลัด ที่ขุดเชื่อมปากคลองบางกอกน้อยกับปากคลองบางกอกใหญ่ (ปัจจุบันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาตอนหนึ่ง ส่วนแม่น้ำเดิมหดแคบเข้ากลายเป็นคลองไป เรียกว่าคลองบางกอกน้อยและบางกอกใหญ่) คลองนี้ขุดในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2085 ช่วยย่นระยะทางของแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมลงกลายเท่า ปรากฏว่าเรื่อที่ผู้แต่งกำสรวลโคลงดั้นอาศัยไป (หรือเสด็จไป) นั้น มิได้แล่นผ่านคลองลัดเลย กลับแล่นอ่อมไปไหนต่อไหนยืดยาวตามลำแม่น้ำเดิม ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ? คำตอบก็คือ วรรณคดีเรื่องนี้ต้องแต่งขึ้นก่อนสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช คือแต่งตั้งแต่ยังไม่ขุดคลองลัด ถ้าเป็นการเดินทางของศรีปราชญ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หรือศรีปราชญ์ในสมัยสมเด็จพระมหาบุรุษ (พระเพทราชา)  หรือศรีปราชญ์ในสมัยสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) อย่างที่ว่ากัน ก็ย่อมเป็นการเดินทางในสมัยหลังจากขุดคลองลัดมานานแล้ว นานพอที่คลองลัดจะกลายเป็นแม่น้ำ และแม่น้ำเดิมกลายเป็นคลองไป ถ้ากระนั้นไฉนจะกลับไปแล่นเรืออ่อมเล่นตามลำน้ำเดิมให้เสียเวลาเล่า
         
           


อาจารย์ดำ..


ศักดิ์ศรี แย้นนัดดา. ศักดิ์ศรีนิพนธ์. กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงามวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2552.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น